หลังคาเหล็กหรือหลังคาเมทัลชีท (Metal Sheet) คืออะไร
ก่อนอื่นขอทำความเข้าใจคำว่า Metal Sheet หรือ เมทัลชีท (ถ้าจะออกเสียงให้ถูกต้องตามฝรั่ง ต้องออกเสียงว่า เม็ทเทิ่ลชีท) หมายถึง แผ่นโลหะที่มีลักษณะเป็นแผ่นบางๆ ซึ่งอาจจะเป็นโลหะอะไรก็ได้ เช่น เหล็ก ทองแดง อลูมิเนียม ฯลฯ แต่ที่ของเมืองไทยส่วนใหญ่จะหมายถึงแผ่นเหล็กที่เอามารีดเป็นแผ่นลอน ๆ ตามรูปลอนที่ออกแบบกันไว้ต่าง ๆ กัน เพื่อที่จะเอามามุงเป็นหลังคา หรือกั้นเป็นผนัง รวมทั้งเอามาขึ้นรูปเป็นบานเกล็ดเป็นครอบมุมต่าง ๆ
แผ่น Metal Sheet ก่อนเอามารีดลอนหรือขึ้นรูปโดยทั่วไปเท่าที่เห็นกันมีอยู่ 2 ลักษณะคือ แผ่นเคลือบอลูซิงค์ (Aluzinc) และแผ่นเคลือบสี
- แผ่นเคลือบอลูซิงค์ เป็นการเอาเหล็กมาเคลือบสารที่มีส่วนผสมหลักเป็นสังกะสี (Zinc) และอลูมิเนี่ยม เพื่อป้องกันการผุกร่อนจากการเป็นสนิม และแลดูสวย เงางามกว่าการเคลือบสังกะสีอย่างเดียวอย่างแผ่นสังกะสีทั่วๆไป
- แผ่นเคลือบสี เป็นการเอาเหล็กมาเคลือบอลูซิงค์(Aluzinc) หรือเคลือบสังกะสี (Zinc) อย่างเดียว (ตามแต่ละมาตรฐาน) ก่อนที่จะเคลือบสีให้สวยงามทับไปอีกครั้งหนึ่ง
ศัพท์ที่ควรรู้เกี่ยวกับ Metal Sheet
- BMT (Base Metal Thickness) คือ ความหนาของเนื้อเหล็กก่อนเคลือบอลูซิงค์
- TCT (Total Coated Thickness) คือ ความหนารวมเคลือบอลูซิงค์และเคลือบสีแล้ว
- AZ 50, AZ 70, AZ 90, AZ 100, AZ 150 คือ ระดับดับการเคลือบสารอลูซิงค์หน่วยเป็นกรัมต่อตารางเมตรทั้ง 2 หน้า ซึ่งการเคลือบสารที่มากกว่าจะทำให้แผ่น Metal Sheet ทนทานนานกว่า ซึ่งความทนทานนี้จะไม่ขึ้นกับความหนาของแผ่นเหล็กก่อนเคลือบ
- G300, G550 คือ ค่า Yield Strength คือค่าบอกการดึงเพื่อให้เหล็กแข็งขึ้น หน่วยเป็น Mpa (ขออธิบายนิดหนึ่งว่า เหล็กเมื่อโดนดึงออกมันจะแข็งขึ้นจนถึงค่าหนึ่งเหล็กจะแข็งที่สุดถ้าตึงต่อจะขาด เราจะเห็นจากเหล็กบางชนิดเช่นที่เขาใช้เสริมคอนกรีตทำเสาเข็มหรือเสาไฟฟ้า เส้นเล็กแต่แข็งมาก เหล็กที่ทำให้แข็งโดยวิธีนี้จะเปราะลงกว่าเดิมและแตกหักง่ายกว่า) เหล็ก G550 จะดึงให้มีค่า Yield Strength = 550 Mpa จะแข็งกว่า เหล็ก G300 เหล็ก G550 เหมาะสำหรับลอนคลิ๊ปล็อคและลอนทั่วไปที่ต้องการให้แข็งแต่ต้องไม่รีดให้เป็นมุมมากเพราะเหล็กเปราะหักง่าย ส่วนเหล็ก G300 เหมาะสำหรับลอนที่ติดตั้งด้วยระบบหนีบ(ลอนหัวจุก เช่น ลอน V-750) แต่รีดเป็นลอนทั่วไปก็ใช้ได้และมีข้อดีที่แม้ว่าเหยียบลอนหักก็เหล็กไม่แตก ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับโรงรีดแต่ละรายว่าจะใช้เหล็กแบบไหน
ข้อควรพิจารณาในการเลือกใช้ Metal Sheet
- เลือกลอนให้เหมาะกับความลาดชัน (Slope) ของหลังคา ซึ่งตัวนี้สำคัญมาก ผู้ผลิตแต่ละที่จะมีข้อกำหนด ความลาดชัน (Slope) ของแต่ละลอนว่าควรใช้กับ Slope เท่าไหร่ ถ้าเลือกผิดก็อาจจะรั่วได้เพราะระบายน้ำไม่ทัน
- เลือกความหนา และลักษณะลอนให้เข้ากับความห่างของแป โดยที่แปห่างควรใช้ความหนาที่มากขึ้น
- เลือกระดับคุณภาพจากระดับการเคลือบซิงค์ หรืออลูซิงค์ และผู้ผลิตเหล็กที่เชื่อถือได้ ซึ่งถ้าต้องการใช้งานที่ยาวนานก็ต้องเลือก AZ ที่สูง ซึ่งโดยทั่วไป AZ70 จะรับประกันได้ประมาณ 5-10 ปี ส่วน AZ150 จะรับประกันได้ประมาณ 15-20 ปี เป็นต้น ซึ่งรายละเอียดในการเลือกแผ่น Metal Sheet คงต้องถามผู้ที่มีความรู้จริงในงานหลังคา
- การใช้สกรูสำหรับการยึดแผ่นหลังคาก็สำคัญ สกรูมีทั้งแบบที่ไม่ผ่านการทดสอบ Class ใด ๆ เลย สกรู Class 2 รับประกันได้ประมาณ 10 ปี และ สกรู Class 3 รับประกันได้ประมาณ 20 ปี จากประสบการณ์ถ้าใช้สกรูไม่ดี ประมาณ 4-5 ปี สกรูจะเป็นสนิมมีสีของสนิมเปื้อนเป็นทางให้เห็นต่อไปก็จะทำให้แผ่นผุกร่อนไปด้วย ถึงแม้ว่าจะใช้แผ่นหลังคา Metal Sheet ที่ดีมีคุณภาพแต่ต้องมาเสียเพราะใช้สกรูที่ไม่ดีพอ
ถ้างานที่ไม่ซับซ้อน ช่างที่ไม่เชี่ยวชาญมากก็สามารถมุงหลังคา Metal Sheet ได้เพราะงาน Metal Sheet ออกแบบมาให้ทำงานง่ายแต่ในกรณีที่งานมีความซับซ้อนการใช้ช่างที่มีความเชี่ยวชาญมีประสบการณ์สูงก็มีความจำเป็น เพราะถ้ามีปัญหาภายหลัง การแก้ไขเป็นสิ่งที่ไม่มีใครอยากทำ
งานหลังคา Metal Sheet ที่ดี มีคุณภาพ เป็นอย่างไร- เลือกใช้ลอน ความหนา เหมาะกับความลาดเอียงของหลังคาและความห่างของระยะแป ซึ่งตรงนี้ต้องขอข้อมูลจากผู้ขึ้นรูป Metal Sheet (โรงรีด) หรือผู้รู้
- เลือกใช้ชนิด คุณภาพ ของแผ่นเหล็ก Metal Sheet ที่ใช้ตรงกับความทนทานของงานที่ต้องการ เช่น ถ้าต้องการความทนทานใช้งานนานก็เลือกแผ่นที่เคลือบระดับ AZ150 ขึ้นไป แต่ทั้งนี้ต้องดูความน่าเชื่อถือของผู้ผลิตเหล็กประกอบด้วย ถ้าเป็นไปได้ควรขอใบรับประกัน (ในกรณีพื้นที่หลังคามากพอสมควร)
- เลือกใช้สกรูที่ใช้ยึดแผ่น Class 3 ขึ้นไป เพราะถ้าใช้สกรูไม่ดีไม่นานจะเป็นสนิมและจะลามไปเป็นสนิมที่แผ่นหลังคาและควรเลือกชนิด ขนาดให้เหมาะกับงาน เช่น ยิงสกรูต่อแผ่นควรใช้สกรูเกลียวใหญ่กว่า
- ครอบ (Flashing) ต่าง ๆ ควรจะเป็นดังนี้
- ความกว้างควรจะเหมาะกับงาน ซึ่งเกี่ยวพันกับความลาดเอียง (Slope) และความสวยงาม
- ครอบจั่วควรตัดเข้าร่องลอนให้เรียบร้อย
- ครอบชนผนังคอนกรีต ควรกรีดคอนกรึตเป็นร่องก่อนแล้วจึงให้ครอบ Metal Sheet สอดเข้าไป
- หัวแผ่นหลังคา Metal Sheet ก่อนใส่ครอบจั่ว ควรพับร่องลอนหักขึ้นกันลมพัดน้ำไหลย้อน
- ซิลิโคนที่ใช้ยาแนวควรเป็นแบบซิลิโคน 100% ทนกับสภาพอากาศร้อน
ขอขอบคุณ Credit บทความ: http://www.ussthai.com